Sunday, February 03, 2008

บาก้า บูมจุฬาฯ ใครรู้บ้างแปลว่าอะไร


วันก่อน นั่งคิดดูว่า เพลงเชียร์ (บูม) ของทั้งจุฬาฯ และวิศวะ
ที่รุ่นพี่สั่งให้รุ่นน้องร้องกัน "บาก้า โบโบ้ เชียร์ก้า ..." ว่ามันมีที่มาจากไหน
ถามใครดูไม่มีใครรู้ซักคน คนอื่นๆ รุ่นเรามันคงเหมือนเรา เค้าสั่งให้ร้อง ก็ร้อง
ถ้าร้องไม่ได้เดี๋ยวหาว่าไม่รักคณะอีก พอเริ่มสงสัยก็เริ่มหา หาไปหามา
ยิ่งไม่มีวี่แววใหญ่ มีแต่ชื่อ ลิงก์กันเป็นร้อย แต่ไม่มีใครรู้อีกซักคน



ข้อเท็จจริง





  1. บูมจุฬา กับ บูมวิศวะ เหมือนกัน ยกเว้นตอนเริ่มต้น (บูมวิศวะ เสียง "บา"
    ยาวกว่า 3 จังหวะ) และตอนจบว่า who are we? Chulalongkorn/ Intania
    (ของวิศวะ)

  2. ไม่รู้ว่า บูมจุฬา หรือบูมวิศวะ เริ่มก่อน เพราะวิศวะจุฬา เป็น
    หนึ่งในคณะแรกของจุฬา ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า บูมในวิศวะ และจุฬาเอาไปใช้
    หรือในทางกลับกัน

  3. มีรุ่นพี่รหัส 23x บอกว่าตอนที่เรียนก็มีบูมบาก้าแล้ว ซึ่งค้นย้อนกลับไป บูมมีมาก่อนปี พ.ศ. 2514 มีคนกล่าวถึง สมเด็จพระเทพฯ ว่า "ได้ทรงเข้ามาเป็นน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์
    พวกเราชาวจุฬาก็มีความสุขและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคอยติดตาม
    แอบชมพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่านอยู่ห่างๆ ทรงน่ารักร่าเริงแจ่มใส เป็นนักหนา
    ทรงกิจกรรมทุกอย่างของคณะและมหาวิทยาลัย ยิ่งตอนงานรับน้องใหม่นั้น
    ได้เฝ้าคอยชมพระองค์ท่าน บูมจุฬา
    ทรงสนุกสนานและทำทุกอย่างเหมือนน้องใหม่ชาวจุฬาทุกประการ. (จากเว็บ http://www.cmadong.com/sumpin/sumpin15.htm)

  4. เด็กเตรียมอุดม บางคน ก็เอาบูมไปร้อง แล้วตั้งชื่อว่า บูมเตรียม
    (คงเอามาจากจุฬาแหงมอันนี้ตามสไตล์)





ด้านล่างนี้หาไปเรื่อย หลังจากยังหาที่มาไม่ได้



เริ่มหากว้างขึ้นว่า "บาก้า" มันน่าจะเป็นอะไร และเป็นภาษาอะไรได้บ้าง
ยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่



ตอนนี้ที่ได้ เริ่มต้นมาก คำว่า บาก้า หรือ baka




  1. บาก้า ไม่น่าใช่ภาษาไทย คำใกล้เคียง ไม่ว่า อาก้า หรือ บ้า กา กล้า บ้า
    ก็แปลกๆ

  2. บาก้า เป็นนามสกุล คนไทย (อรุณา บาก้า) คนมาเลเซีย (นายดาโต๊ะชาฟี่ บิน
    อาบู บาก้า รองปลัดมหาดไทยมาเลเซีย) และนักมวยอินโดนีเซีย (จูลัส บาก้า)


  3. บาก้า (Baka) เป็นชื่อหัวหน้าทาสในเรื่องราวของ โมเสส บัญญัติ 10 ประการ
    และเป็นชื่อของบุคคลในฟาโรห์องค์หนึ่ง (ไม่รู้คนเดียวกับในโมเสสเปล่า) แล้วก็มักจะเป็นเหตุผลที่เด็กจุฬาฯชอบมาตอบตามเว็บบอร์ดว่า "เป็นคำศักดิ์สิทธิ์คำหนึ่ง ที่โมเสสได้เอ่ยออกมาเพื่อแหวกนํ้าทะเลออก "โมเสสพูดคำว่า "บาก้า" ตอนแหวกทะเลแดง แต่พอหาดูกลับไม่มี

  4. Bhaga ในภาษาสันสกฤต เป็นชื่อเรียกเทพพระเจ้าในฮินดู (หรือว่าโมเสสจะเรียกพระเจ้าองค์นี้ตอนแหวกทะเลแดง)

  5. ภาษาอื่นๆ


    1. ญี่ปุ่น - บะกะ (ばか)- แปลว่า บ้า หรือไอ้บ้า


    2. เห็นว่าในช่วงสงครามโลก สหรัฐ ใช้เรียกพวกญี่ปุ่นที่ทำกามิกาเซ่ ว่า
      "บาก้า"หรือ "บะกะ"


    3. ฟิลิปปินส์ - baka แปลว่า วัว


    4. โปรตุเกส - มีคำว่า vaka แปลว่า วัว เหมือนกัน
      สงสัยว่าคำเดียวกับฟิลิปปินส์เปล่าเนี่ยอ่านเหมือนกัน


    5. ฮังการี - baka แปลว่า ทหารฝึกหัด


    6. สวีเดน - baka แปลว่า อบอาหาร คงมาจากคำว่า bake



  6. ในแอฟริกา Baka เป็นชื่อ เผ่าหนึ่ง

  7. ในทิเบต Baga เป็นชื่อเมือง


  8. ในประเทศไทย มีบริษัทชื่อบาก้า เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ กับ บริษัทบาก้า
    อุตสาหกรรม (สงสัยพวกจบจุฬาฯ)

  9. นอกจากนี้ มีคนกล่าวว่า มาจากภาษาสันสกฤตว่า "โมหะ"
    เกี่ยวกันหรือเปล่าเนี่ย



สรุปแล้วหาข้อสรุปไม่ได้ เราร้องอะไรฟะเนี่ยมา 4 ปี แล้วรุ่นน้องอีกหลายรุ่น
มันก็ร้องต่อกันอีกตลอดเวลาเรียน 4 ปี แล้วมีรุ่นพี่ ที่ร้องมาแล้วตลอด 4 ปี
หลายหมื่นคนได้ จะมีใครช่วยตอบคำถามนี่ได้มั้ยเนี่ย ว่ามันแปลว่าอะไร



สันนิษฐาน



1) มันต้องมีอะไรซักอย่างที่ดี



2) หรือว่า รุ่นพี่ รุ่นใดรุ่นหนึ่งเอามัน แต่งเล่น
แล้วสั่งให้รุ่นน้องร้องตาม



ใครรู้บอกผมที่



(บล็อกนี้เดิมโพสต์ไว้ที่สเปซเซส :: http://lim.spaces.live.com/ )

3 comments:

Anonymous said...

ข้อสังเกต มีเพลง CU Polka ประพันธ์และขับร้องโดย อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ขณะเป็นนิติตปีที่ 3 คณะอักษรฯ จุฬา ในครั้งนั้น อาจารย์ดำรงตำแหน่งนายกชุมนุมดนตรี (ชมรมดนตรีสากล C.U.BAND ในปัจจุบัน) ที่เป็นผู้หญิงคนแรกของจุฬาฯ อาจารย์เป็นผู้รับผิดชอบการแสดงในส่วนของด­นตรี อาจารย์จึงได้ แต่งเพลง "C.U.POLKA" ขึ้น เพื่อเป็นเพลงเอกในการแสดงดนตรีประกอบการเ­ต้นรำเป็นชุด MUSICAL NUMBER

เนื้อร้อง :: Come - on and play the C.U.POLKA Come - on and do our "boom boom bam" ! Come - on and play the C.U.POLKA And you will pass the re -exam !
Come - on and play the C.U.POLKA Let's go - a - boom - boom night and day ! Don't ever stop to boom - boom - bam And you will pass the re - exam Let's go our C.U. way :
"Boom - ba - la -ka Bow -bow - bow
Chik - a - la - ka Chow - chow - chow
Boom -a - lak - a - bow Chik - a - lak - a - chow Who are we ? Chulalongkorn ! Can't you see ? Rah !"
Come - on and play the C.U.POLKA And you will know that life is gay
Come - on and play the C.U.Polka Throw all those gloomy looks away !
Come - on and play the C.U.Polka Forget those lectures and be gay Don't ever stop to boom - boom - bam And you will pass the re - exam Let's go our C.U. way :
"Boom..... .............Rah....!
When C.U. boys say "Boom - ba - la - ka !" They mean to say "Dear,I love you !" When C.U.girls say "Chick - a - la - ka ! ' They mean to say " I love you too !"
So let us sing this C.U..POLKA Let's fall in love on C.U.DAY ! Don't ever stop to boom - boom - bam And you will pass the re - exam Let's go our C.U.way!

Source :: http://www.chula.ac.th/about/symbol_s...

Unknown said...

ส่วนตัวเข้าใจมันคือ บาลาก้า ใน บูมบาลาก้า ตามฝรั่งเขามานะ

Unknown said...

บูมบาลาก้าเป็นเพลงประจำของคณะวิศวกรรมตั้งแต่เริ่มมีการร้องเพลงเชียร์และกีฬาระหว่างคณะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เพลงนี้ได้มาจากอาจารย์ที่เป็นพระยา คุณพระ คุณหลวง ซึ่งท่านเหล่านี้เรียนจบมาจากประเทศอังกฤษ เขาร้องเพลงเชียร์การแข่งขันฟุตบอลสโมสรในประเทศอังกฤษ ระบบโซตัสหรือรุ่นพี่รุ่นน้องก็ได้มาจากอาจารย์เหล่านี้เช่นกัน เมื่อปี พศ 2505 ในขณะที่ผมเป็นน้องใหม่หรือเฟรชชี่วิศวจุฬา เราต้องฝึกร้องเพลง บูมบาลาก้า โบ้โบ้โบ้ ชิกาล่าก้า โช่โช่โช่ บูมบาลาก้าโบ้ ชิกาลาก้าโช่ ฮูอาร์วี่ อินทาเนี่ย แคนยูซี่ ล่า อีเอนจีไอเอนอีอีอาร์ เอนจิเนีย เอนจิเนีย เอนจิเนีย โว้โว้โว้ ฉึกฉัก ฉึกฉัก ฉึกฉัก ประโยตหลังๆนี้เป็นการเลียนเสียงแบบเครื่องจักร์และเครื่องยนต์กลไก เราต้องร้องเพลงบูมกันให้หนักแน่นและเด็ดขาดแบบที่ว่าในการประชุมเฟรชชี่จุฬาทุกคณะในหอประชุมจะทำให้เขาเหบ่านั้นขนลุกขนพองสยองเกล้ากันเลย ต่อมาประธานเชียร์จุฬาเลื่อมใสในเพลงบูมวิศวะ ได้ทำหนังสือมาที่หัวหน้าคณะวิศวะเพื่อขอเพลงนี้ให้เป็นเพลงประจำจุฬาฯมหาวิทยาลัย พวกเราชาววิศวกรรมเข้าประชุมกันและโหวด เสียงส่วนใหญ่อนุญาตให้จุฬาเอาเพลงบูมไปใช้ได้