Friday, December 07, 2007

อย่าเข้าใจผิด Creative Commons ไม่ได้มากู้โลก

เห็นช่วงนี้มีการโปรโมต ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons หรือย่อกันว่า CC) กันยกใหญ่ และก็สร้างข้อเข้าใจผิดกันยกใหญ่เช่นกัน สาเหตุที่ฮิตตอนนี้เนื่องจากสัญญาฉบับนี้จะมีเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการแล้ว เย้ เย้ หลังจากที่มี 30 กว่าภาษาทั่วโลก (ป้าย CC ข้างขวาของผมนี้ยังลิงก์ไปรุ่นภาษาอังกฤษอยู่ ซักพักคงได้เปลี่ยนให้ลิงก์ไปยังภาษาไทย) ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ผู้รู้อะไร แค่บังเอิญรู้จักและใช้มาก่อนคนอื่น ซึ่งนับได้ประมาณ 4 ปีแล้ว อาจพอช่วยลิสต์รายการเข้าใจผิดให้เห็นได้ เขียนเป็นถามตอบละกัน

  • ถาม - ภาพ ข้อความ งานเขียน ข้อความในบล็อก จะปลอดภัยจากการโดนก๊อปแล้วใช่ไหม
    • ไม่ใช่ครับ ว่าไปแล้วก็ไม่ได้ปลอดภัยจากเดิมเท่าไร เหมือนเดิมทุกอย่าง แค่คนที่ใช้ CC จะประกาศให้คนอื่นรับรู้ว่าก๊อปไปได้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ต้องอ้างถึง และอื่น ๆ
  • ถาม - ถ้าเราโดนก๊อปงานไปโดยคนก๊อปทำผิดสัญญาว่าจะอ้างถึง แต่ไม่อ้าง เราจะทำอย่างไร
    • ก็ทำเหมือนเดิมครับ ถ้าเราฟ้องมีเรื่องถึงศาลก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรก็เหมือนเดิมอยู่ดี มี CC หรือไม่มีก็ไม่ต่างกัน
  • ถาม - ถ้าเราใช้ CC จะต่างอะไรกับการที่เราเขียนขึ้นเองว่า "อนุญาตให้นำไปใช้ อนุญาตได้แต่ห้ามเอาไปขาย อนุญาตนู่น อนุญาตนี่ ...
    • ไม่ต่างกันอีกแล้ว แค่ว่าเราไม่ต้องเขียนอะไรของเราเอง เราแค่เอาป้าย CC ไปแปะ ข้อความอนุญาตและห้ามต่าง ๆ ก็จะมีผลต่องานของเราทันที ประหยัดเวลาเขียนข้อความ
  • ถาม - แต่เราไม่อยากให้คนอื่นก๊อปงานเราไปใช้นี่ แล้วเราจะใช้ CC ได้หรือเปล่า
    • ก็ไม่ได้อีกเหมือนกันครับ จุดหมายของ CC คือเอาไว้แบ่งปันแจกจ่ายให้คนอื่นใช้ คนที่ต้องการเขียนหรือมีผลงานที่มีลิขสิทธิ์ของตัวเอง ก็ไม่เหมาะกับ CC แต่ทว่า อย่างที่เห็นกันว่าในปัจจุบันไม่ว่าเขียนอะไร ถ้าเขียนดีหน่อยในเน็ต ก็โดนคนก๊อปไปแล้วไม่ว่าเราจะห้ามยังไง ก็โดนก๊อปไปอยู่ดี
  • ถาม - ถ้าเราเอางานลิขสิทธิ์มาใส่ในเว็บเรา แล้วใช้เป็น CC ได้หรือเปล่า
    • ก็ไม่ได้อีกนะครับ เพราะงานเขาสงวนลิขสิทธิ์ ว่าไปที่เราเอามาใช้ก็ผิดแล้ว แต่บางทีเขาก็อยากให้ใช้เพื่อโปรโมตงานเขา ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะไม่ถือสาอะไร ได้คนโปรโมตไปในตัว ตัวอย่างถ้าเราเอาเอ็มวีเกาหลีมาใส่เว็บและปิดป้ายไว้ว่าเป็น CC เราก็ผิดตั้งแต่แรกแล้ว
  • ถาม - อ่านมาแล้วก็ไม่เห็นต่างกับเดิมเลย แล้วจะใช้ทำไมละเนี่ย (เริ่มหงุดหงิด)
    • ต้องเข้าใจก่อนว่า CC สำหรับคนที่ต้องการแบ่งปัน
    • ถ้าใช้ CC ที่เว็บหรือที่บล็อก ก็จะแสดงให้คนอ่านได้รับรู้ว่า เราต้องการแบ่งให้คนอื่นก๊อปไปใช้
    • ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า เราสนใจเรื่องลิขสิทธิ์
    • เท่ ฮิป ชิค และอินเทรนด์ครับ (อันนี้ความเห็นส่วนตัว)
  • ถาม - สุดท้ายแล้ว มีที่ไหนที่เขาใช้กันมั่งแล้วเนี่ย
    • สำหรับ CC unported หรือในภาษาอื่นนั้น หลายเว็บไซต์ รวมทั้งเว็บไซต์ไทย ก็เริ่มมีการตื่นตัวสำหรับการแบ่งปันข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้วเหมือนกัน อย่างที่เห็นกันเช่น วิกิพีเดีย มีการใช้มานานแล้ว ฟลิคเกอร์ (เว็บไซต์โหลดรูป) มีให้เลือกว่ารูปที่เราโหลดขึ้นเว็บ เราจะสงวนลิขสิทธิ์ หรือเราจะแบ่งปันแบบ CC, ภาพทั้งหมดในงาน งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ เมื่อปีที่แล้วได้มีการใช้สัญญานี้ ซึ่งค่อนข้างน่าตื่นตาพอควรนาน ๆ ทีจะเห็นรัฐบาลไทยเริ่มทันสมัย และก็ บล็อกนั้น บล็อกข่าวแวดวงไอทีทั่วโลกมีข้อบังคับว่าใครอยากเขียนบล็อกที่นี่ต้องใช้ CC ซึ่งใช้มาหลายปีพอสมควรเช่นกัน นอกจากนี้ก็มี เอ็มไอทีโอเพนคอร์สแวร์ (เลกเชอร์ของนักศึกษาเอ็มไอที มหาวิทยาลัยระดับโลกนะเนี่ย แจกให้ใช้งานฟรี) ไร้สาระนุกรม (เหมือนวิกิพีเดีย แต่รวมเรื่องทุกเรื่องที่ไร้สาระ + ขำสนุกสนานเฮฮา) พออ่านมาถึงตรงนี้คงพอรู้แล้วว่าเว็บที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูล หรือเว็บความรู้เขาจะหันมานิยมใช้ CC นอกจากในด้านเว็บแล้ว นักร้อง ค่ายเพลงหลายแห่งเริ่มหันมาหา CC บ้าง หลังจากเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังโดนก๊อป งั้นก็ปล่อยให้ฟรีละกัน แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มา จะได้โปรโมตไปในตัว
  • ถาม - ก่อนจากไป แล้วอย่างนี้กฎหมายไทยรองรับแล้วหรือ
    • ครีเอทีฟคอมมอนส์ไทยจัดทำโดยนักกฎหมายชาวไทย (บริษัทธรรมนิติ) ซึ่งสร้างขึ้นมาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ไทยครับ ซึ่งส่วนนี้ก็ยังมีผลต่อเนื่องไปถึงอนุสัญญาเบิร์น ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นานาชาติอีกด้วย

ป.ล. Creative Commons (มันเติม s เสมอนะครับ เห็นเขียนผิดกันบ่อย) ซึ่งคำว่า commons นี้เป็นคนละคำกับ common โดยคำว่า commons จะหมายถึง "ส่วนที่เก็บข้อมูลเพื่อไว้แบ่งปันกัน" ส่วนคำว่า Creative Commons ก็เลยมีความหมายเป็นนัยว่าเป็นที่แบ่งปันสำหรับเนื้อหาที่ครีเอทีฟ บางทีจะเห็นมีการใช้ตัวเล็กหมดเป็น creative commons ก็เก๋ไก๋พอตัว

ข้อความนี้เดิมโพสต์ไว้ที่ http://itshee.exteen.com/20071207/creative-commons

Monday, November 12, 2007

YouTube : ยูทูบ ยูทิวบ์ ยูทูบี ยูตูเบะ

ในวิกิพีเดียไทยมีเถียงกันพักนึงว่า YouTube นี่อ่านว่าอย่างไร หนังสือพิมพ์ไทยใช้กันทั้ง ยูทูบ กับ ยูทิวบ์ สลับกันเต็มไปหมด บางหนังสือพิมพ์ใช้ทั้งสองแบบในหน้าเดียวกันด้วยซ้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอ่านเจอในเว็บบอร์ด มีคนถามอีกเหมือนกันว่าคำว่า YouTube นี้อ่านว่าอะไร ระหว่าง ยูทูบ ยูทิวบ์ ยูทูบี หรือ ยูตูเบะ (อันหลังคงตัดทิ้งได้มั้ง ไม่รู้คิดมาได้ไง)

หลายคนคงรู้จัก YouTube กันแล้ว ว่าเป็นเว็บให้บริการเก็บไฟล์วิดีโอออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้สามารถอัปโหลดได้ และตอนนี้เป็นเว็บวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ล่าสุดเห็นในเมืองไทย MWeb เอาไอเดียมาทำมั่ง ช่วงสมัยที่ยูทูบโดนบล็อกในเมืองไทย และตอนนี้กระทรวงอะไรซักอย่างให้โปรแกรมเมอร์ชาวไทย ทำเว็บเหมือน YouTube ขึ้นมาที่ Fuse (แปลกดีไม่รู้สร้างทำไม หน้าตาก็โอเคแต่เป็นฝีมือคนไทย) YouTube นี่ใครยังไม่เคยเข้าไปใช้ก็แนะนำอย่างยิ่ง เพราะมีทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรที่อยากดู ตอนนี้เว็บนี้นับได้ว่าเป็นเว็บอันดับหนึ่งที่คนไทยเข้าเลยก็ว่าได้ คงพอๆ กับจำนวนคนเข้า Hi5 (ไฮไฟฟ์) วันก่อนเพิ่งนั่งดู โฆษณาแปลกๆที่หาดูยาก หาดู mv ของ Zard และก็ดู โกลด์ไลตัน ดูกันได้ที่ www.youtube.com

เริ่มเรื่องเลยคำนี้ในอเมริกาใช้กันว่า ยูทูบ[ยอ อู ยู ทอ อู บอ ทูบ] ถ้าเปิดโทรทัศน์อย่างซีเอ็นเอ็นช่วงนี้จะมี ข่าวเรื่องการเมืองเยอะ ซึ่งมีการปราศรัยและเก็บไว้ในยูทูบกัน ดังนั้นบริษัทอเมริกันอย่าง YouTube ก็ควรจะเรียกว่า ยูทูบ ซึ่งคำว่า you คนไทยเราเองทุกคนคงอ่านว่า ยู กันอยู่แล้ว แต่คำว่า tube นี่ซิ มีทั้ง ทิวบ์ และ ทูบ ถ้าว่ากันตามเสียงอ่านแล้วบางทีฟังโทรทัศน์ก็อาจได้ยินไม่ ยูทูบ ก็ ยูถูบ นี่แหละ แต่ก็ไม่แปลกที่คนไทยจะเรียกกันว่า ยูทิวบ์ เพราะพวกเราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า tube อ่านว่า ทิวบ์ แปลว่า ท่อ ดังนั้น YouTube ก็น่าจะอ่าน ยูทิวบ์ ซิ

เรื่องมันมีอยู่ว่า อะแฮ่ม อันนี้บังเอิญได้เรียนมาพอดี เลยพอเข้าใจได้ว่าทำไมมันเป็น ทูบ ไม่ใช่ ทิวบ์ ก่อนหน้านี้เคยไปเรียน (เที่ยวเล่นเป็นส่วนใหญ่) ที่เออร์แบนา เลยได้ไปลงเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์จิลล์ พร้อมเพื่อนคนไทย เป๊กกี้ นี่แหละทั้งห้องมีอยู่สี่คน อีกสองคนจำชื่อไม่ได้ละ เป็นคนเกาหลีคน คนโคลอมเบียคน เนื่องจากว่าในการออกเสียงภาษาอังกฤษมันมี สิ่งที่เรียกว่า invisible Y (ไม่รู้อาจารย์ไทยเรียกอะไรกัน จะว่าแปลว่า วายล่องหนก็ใช่เรื่อง) ก็ทับศัพท์ไปละกัน แล้ว invisible Y นี่แหละจะมีการใช้กันเยอะมากโดยที่เราไม่สังเกต ลองดูจะเห็นได้ว่าคำว่า university ทำไมอ่านเป็น ยูนิเวอร์- ไม่อ่านเป็น อูนิเวอร์- หรืออย่าง cute ทำไมอ่านเป็น [คิวท์] ไม่ใช่ [คูท] ก็เพราะตัว invisible Y นี่เอง ซึ่งคำว่า university จะออกเสียงเหมือนมี [y] เพิ่มอีกหนึ่งตัวเป็น yuniversity เช่นเดียวกับ cute จะออกเสียงเป็น [cyute] โดยตัว [y] นี่เองจะไปแทรกอยู่ตรงหน้าสุดของเสียงสระ หลายคนคงถึงบางอ้อกันแล้ว ว่าอย่างนี้นี่เอง โดยเสียงนี้มันจะแทรกตามคำที่น่าจะออกเสียง [อู] นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายคำที่เราๆ ออกเสียงกันผิด ไม่ว่า volume ออกเสียงเป็น [volyume - วอลยูม] หรือ อย่าง vacuum ออกเสียงเป็น [vacyuum - อ่านกันเองสะกดไทยไม่ได้คำนี้] หรือว่าชื่อเมือง Houston ก็ออกเสียงเป็น [Hyouston ซึ่งไม่ใช่ ฮูสตัน แต่เสียงจะใกล้กับ ฮิวสตัน มากกว่า]

คราวนี้กลับมาที่ tube งั้นตามหลักเกณฑ์ด้านบนแล้ว tube ก็น่าจะอ่านว่า [tyube - ทิวบ์] ก็ถูกอีก เพราะมันเป็นการออกเสียงปกติ แต่ทว่าเสียง t ในอังกฤษอเมริกัน นั้นจะไม่มี invisible Y ตามหลัง ซึ่งเสียงเหล่านี้จะไม่มี ได้แก่ d t s x n r l หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า institute ที่มีการอ่านว่า อินสติตูต แทนที่ อินสติติวต์ (ทำเสียงสลิดหน่อย) นั่นแหละคือที่มาของคำเหล่านี้ ดังนั้นเป็นสาเหตุได้ว่าทำไมคำว่า tube ในอเมริกา ถึงอ่านว่า ทูบ ไม่ใช่ ทิวบ์ ซึ่งนอกจากนี้ มีอีกหลายคำที่เสียงอังกฤษอเมริกันไม่เหมือนคำที่คนไทยเราคุ้นเคย ไม่ว่า [student - สตูเดนต์] [ newspaper - นูส์เพเพอร์] หรือ [mountain dew - เมาน์เทนดูว์] ซึ่งถ้าเห็นสโลแกนของ Mountain Dew ว่า Do the Dew แล้วคงพอนึกออกว่าเขาเล่นเสียงของคำ

พอสรุปได้ดังนี้ หลายคนก็โอเคและยอมรับว่างั้นบทความเรื่อง ยูทูบ ก็เขียนเป็น ยูทูบ แทนที่ ยูทิวบ์ เพราะถือว่าเป็นบริษัทอเมริกัน ถ้าเป็นบริษัทอังกฤษก็คงกลายเป็นยูทิวบ์ด้วยเหตุผลเดียวกัน คงอารมณ์เดียวกับชื่อ Serie A (ลีกฟุตบอลสูงสุดในอิตาลี) ที่เคยเถียงกัน คนไทยอ่าน ซี-รี่-เอ คนอังกฤษอ่าน ซี-รี-เอ คนอิตาลีอ่าน เซ-เรีย-อา ดังนั้นทุกคนลงความเห็นเดียวกันว่าใช้ "เซเรียอา" ไปโดยไม่ต้องมีคำถามต่อ แต่อย่างเรื่องยูทูบมันก็ยังไม่จบ ก็มีหลายคนโผล่มาอีกว่า "ก็เราเป็นคนไทยนี่ ก็ต้องอ่าน ยูทิวบ์ ซิ ผมใช้คำว่า ทิวบ์ ตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้น YouTube ต้องเป็น ยูทิวบ์ ไม่งั้นผมไม่ยอม" เฮ้อ

เคยลองไปหาดูบล็อกอื่นก็มีพูดถึงกันเหมือนกัน เรื่องสองคำนี้ คุณ Suki จากบล็อก Suki Media ได้ยืนยันเขาเรียนและทำงานในสหรัฐฯ มา 4 ปี ได้ยินแต่คำว่า "ยูทิวบ์" ตลอด ผมเลยไปแซวเขาว่าไปอเมริกามาเดือนเดียว เปิดโทรทัศน์ไม่เกินวันก็ได้ยินคำว่า "ยูทูบ" แล้ว ส่วนอีกบล็อก คุณ MK จาก isriya.com เขียนไว้ว่ามีชาวยุโรปบอกมาว่าการออกเสียง "ทิวบ์" ค่อนข้างยาก อเมริกันเลยตัดเสียงเหลือแค่ "ทูบ" ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยเท่าไร คำตอบเหมือนกำปั้นทุบหินดินทรายนิดหน่อย เพราะถ้ายากคนอเมริกันคงตัดไปหมดแล้วไม่ว่า คิวบ์ (cube) คิวท์ (cute) มิวท์ (mute) ฮิว (hue) อเมริกันออกเสียงแบบเดียวกันหมด แต่ไม่ใช้กับ ทูบ (tube) และ ลูบ (lube)

อีกนิดหน่อย คำนี้ในภาษาญี่ปุ่น ユーチューブ อ่านว่า ยูจูบุ ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นอ่านไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของภาษาที่บังคับให้อ่านแบบนั้น ถ้าถามเราว่าคนอ่าน ยูทิวบ์ หรือ ยูตูเบะ เราก็บอกได้เลยว่าไม่ผิด แต่ทำไมเราไม่อ่านให้เหมือนเจ้าของภาษาละที่เขาอ่านกันว่า ยูทูบ

ดูเพิ่ม:

บล็อกนี้เดิมโพสต์ไว้ที่ mnop Spaces เมื่อ 11 ธันวาคม 2549

ศัพท์คอมที่เขียนผิดกันบ่อย :: ให้บอตแก้ซะ

ในวิกิพีเดียไทยเรา เนื่องจากรูปแบบวางไว้ในลักษณะสารานุกรม ซึ่งมีการเขียนเรื่องราวให้ผู้อ่านได้อ่าน ซึ่งการสะกดคำก็สำคัญใช่น้อย ลองนึกดูว่าอย่างคำว่า internet ถ้าคนนึงเขียน อินเตอร์เน็ต อีกคนมา อินเทอร์เน็ต คนที่สามมาเป็น อินเตอร์เนต อ้าวแล้วอย่างนี้สามคนมาร่วมเขียนบทความเดียวกันสะกดคนละแบบ คนอ่านมาอ่านคงขำหัวเราะตายเลย

วิกิพีเดียไทยเลยมีไอเดียการตั้งคำศัพท์ที่ "ถูก" ขึ้นมา อย่างไรก็ตามคำว่า "ถูก" กับ "ผิด" นั้นไม่ใช่กฎตายตัว เพราะหลายคำก็หาข้อสรุปไม่ได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด นิยามคำว่าถูก จะกล่าวถึงคำที่สะกดถูกตามพจนานุกรมไทย หรือคำที่อ่านและได้เสียงเดิมเหมือนกับคำต้นฉบับ และสะกดตามหลักเกณฑ์อ้างอิงจากราชบัณฑิตฯ (แม้ว่าราชบัณฑิตฯ จะผิดพลาดบ้าง อะนะ) ซึ่งหลายครั้งก็ยากที่จะดูว่าอันไหน "ถูก" หรือ "ผิด" ไม่เหมือนคำไทยที่เขียนผิดหรือเขียนแอ๊บมา ก็เข้าใจได้ทันที

ในที่สุดก็เป็นจุดเริ่มต้นของ บอต สำหรับแก้คำศัพท์ ซึ่งบอตก็เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่รันเหมือนกับ บอตในเกมออนไลน์ทั่วไป ทำหน้าที่ของมันไปเรื่อย โดยมันจะวิ่งไปทุกบทความ เจอคำไหนสะกดผิด (ไม่อยากเรียนว่าสะกดผิด เพราะคำทับศัพท์หลายคำมันไม่มีถูกผิด) บอตก็จะเข้าไปแก้แล้วก็เซฟทันที แล้วก็วิ่งหาบทความอื่นต่อ ซึ่งสุดท้ายวิกิพีเดียไทยเราก็ได้บทความที่ใช้คำศัพท์ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งตัวอย่างคำเช่นคำด้านล่าง โดยเรียงตาม - ศัพท์อังกฤษ [ศัพท์ที่ถูก] - และศัพท์ที่ใช้กันทั่ว

- internet [อินเทอร์เน็ต] - อินเตอร์เน็ต อินเทอร์เนต อินเตอร์เน็ต อินเทอร์เน็ท อินเตอร์เน็ท ฯลฯ

- web [เว็บ] - เว้บ เว๊บ เวบ

- site [ไซต์] - ไซท์ ไซ้ต์ ไซ้ท์ ไซด์ (อันนี้คนละ site ->side แต่ผิดกันบ่อย)

- web site [เว็บไซต์] พอรวมกันเข้ามีได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่า - เว็บไซท์ เวบไซด์ เว็บไซต เวบไซท์ เว้บไซ้ต์ เว็บ ไซต์ (แบบเว้นวรรค) ฯลฯ

- email [อีเมล] สะกดตัว ล เดียว เพราะมี L เดียว - อีเมล์ (เหมือน รถเมล์) อีเมลล์

- software [ซอฟต์แวร์] สะกดตัว ต์ ลงท้ายด้วย T - ซอฟท์แวร์ (อันนี้ใช้กันเยอะ)

- server [เซิร์ฟเวอร์] - เซอร์เวอร์

- dot [ดอต] - ดอท ด็อต ด็อท

- blog [บล็อก] - บล็อค บล๊อค บล๊อก

- byte [ไบต์] -ไบท์ ไบ้ต์ ไบ้ (ยังกับ ง้อไบ้)

- function [ฟังก์ชัน] - ฟังก์ชั่น ฟังค์ชั่น

- link [ลิงก์] - ลิ้งค์ ลิ๊งค์ ลิ้งก์ ลิ๊งก์

- world [เวิลด์] - เวิล์ด (คำนี้อ่านว่า เวิด นะเนี่ยแต่ผิดกันบ่อย)

- Adobe [อะโดบี] - อโดบ

- Delphi [เดลไฟ] -เดลฟี

- Revit [เรฟวิต] - รีวิต รีวิท เรวิท เรวิต

- Spaces [สเปซเซส] - สเปซ สเปส สเปสส์

- Leopard [เลปเปิร์ด] - ลีโอพาร์ด (ลีโอพาร์ด มีแต่คนไทยที่เรียกแปลกดี)

- update [อัปเดต] -อัพเดต อัพเดท อัปเดท (คำนี้สะกดหลายแบบแล้วแต่ใจ)

- upload [อัปโหลด] -อัพโหลด อัพโลด

- engine [เอนจิน] - เอนจิ้น เอ็นจิ้น (คำนี้อเมริกันอ่าน เอ้นจิ่น)

- application [แอปพลิเคชัน] - แอปพลิเคชั่น แอพพลิเคชั่น แอพพลิเคชัน แอพพลิคเคชัน

- bot [บอต] -บอท

- archive [อาร์ไคฟ์] - อาร์ชีฟ (อ่านผิดบ่อย คำนี้รากศัพท์กรีก ch ออกเสียง ค)

- Linux [ลินุกซ์] - ลีนุกซ์ ลีนักซ์ ไลนักซ์ ลินิกซ์ ลีนิกซ์ (เหมือน ยูนิกซ์)

ประมาณนี้ ซึ่งหลายคำไม่ใช่ว่า "ถูก" หรือ "ผิด" อย่างคำว่า บอต-บอท ซึ่งมันอ่านเหมือนกันแหละในคำไทย แต่การแก้ไขจะช่วยให้ออกมาในรูปแบบเดียวกัน ให้หน้าตาออกมาดูดี

Saturday, September 22, 2007

คำสอนขงจื๊อ

ไปอ่านมา แล้วรู้สึกว่า ตรงแฮะ เจอมากับตัวบ้าง เจอมากับคนรอบข้างบ้าง หรือเจอมากับสิ่งที่ได้เห็น
ขงจื๊อ กล่าวไว้ ให้ทำการศึกษา เรียนรู้ข้อเท็จจริง อย่าฟังแต่ความเห็น คำนินทา ดังคำกล่าวว่า
- คนมีเมตตา ต้องฉลาด ไม่งั้นจะโดนหลอกได้ง่าย
- คนฉลาด ต้องศึกษาสิ่งรอบตัว ไม่งั้นจะประพฤติตัวผิดได้ง่าย
- คนซื่อสัตย์ คนตรง คนกล้า ต้องฉลาด ต้องศึกษา เพราะจะหุนหันพลันแล่นและมีภัยใกล้ตัวง่าย
- คนอยากมีอำนาจ ต้องศึกษา เพราะคนรอบข้างอาจรู้สึกโดนขมเห่ง และดูวางโตได้ง่าย

Wednesday, September 12, 2007

StumbleUpon

เว็บ 2.0 (เว็บที่มีการเชื่อมต่อของผู้ใช้ในหลายระดับ) สำหรับคนว่างงาน(อย่างเรา) อยากค้นหาอะไรใหม่และหลากหลายที่มีในอินเทอร์เน็ต บางคนคงรู้จัก StumbleUpon (สตัมเบิลอัพออน หรืออ่านว่า สตัมบ์-เบิล-อัพ-พอน) กันแล้วเพราะมีคนใช้เยอะเหมือนกัน เคยอ่านเจอใน Blognone ในหัวข้อ Best Web 2.0 Software of 2006 ซึ่งล่าสุดตัวนี้ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Firefox Campus Edition สามสี่วันที่ประกาศออกมา
การทำงานของโปรแกรม โดยหลังจากกดปุ่ม Stumble! ที่ทูลบาร์ โปรแกรมจะสุ่มเลือกเว็บที่น่าสนใจขึ้นมา ซึ่งจะเห็นเว็บแปลก เว็บฮิปฮิปหลายตัวเหมือนกันที่น่าสนใจ นอกจากนี้ผู้ใช้เองสามารถโหวตได้ว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ หรือถ้าไม่สนใจก็อาจกด Stumble! ข้ามไปเลยก็ได้ และเว็บใหม่ก็จะถูกโหลดขึ้นมา

สำหรับคนที่ไม่เคยลอง ลองเล่นกันได้ที่ www.stumbleupon.com ซึ่งจะมีทูลบาร์สามารถติดตั้งบนไฟร์ฟอกซ์ได้ทันทีอีกด้วย